วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556



การปลูกป่าชายเลน



1. การปลูกป่าชายเลนโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน 

                กรมป่าไม้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ในท้องที่จังหวัดจันทบุรีในบริเวณพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม โดยดำเนินการปลูกไม้โกงกางเพื่อเป็นการทดลองปลูกในเนื้อที่เพียงเล็กน้อย และไม่ได้มีโครงการที่จะปลูกเพิ่มขึ้นในท้องที่จังหวัดอื่นด้วย แต่ก็ดำเนินการเพียงพื้นที่เล็กน้อย และเริ่มปลูกเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังแต่พื้นที่ก็ยังไม่มาก ไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นไม้โกงกาง มีไม้โปรง ไม้ถั่วบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย การปลูกป่าชายเลน ที่ผ่านมาเพียงปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณป่าที่เสื่อมโทรมยังไม่มีแผน การจัดการที่จะนำไม้ออกมาใช้ประโยชน์ เนื้อที่สวนป่าชายเลนที่ได้ดำเนินการปลูกโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ถึงปี พ.ศ. 2534 มีการดำเนินการในท้องที่จังหวัดจันทบุรี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล ปัตตานี กระบี่ ชุมพร ได้เนื้อที่รวมกันประมาณ 56,660 ไร่ 

2. การปลูกป่าชายเลนตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน 


                การทำไม้ตามสัมปทานได้เริ่มออกสัมปทานทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 โดยให้สัมปทานระยะยาว 15 ปี ขณะนี้ป่าโครงการที่ให้สัมปทานอยู่ในรอบที่สอง (สัมปทานฉบับใหม่) จำนวน 248 ป่า เนื้อที่ประมาณ 899,755.07 ไร่ ซึ่งเมื่อทำไม้ออกตามสัมปทานแล้วแต่ละปีผู้รับสัมปทานจะต้องทำการปลูกบำรุง ป่า ทดแทน ตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้รอบแรกกำหนดให้ผู้รับสัมปทานปลูกป่าทดแทนเพียง 1 เท่าค่าภาคหลวง เท่านั้น จึงทำให้ปลูกป่าทดแทนได้ไม่เต็มพื้นที่ที่มีการทำไม้ออก ฉะนั้นตามสัมปทานทำไม้ฉบับใหม่ที่ทำไม้ออก ตามสัมปทานในรอบที่สอง ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขสัมปทานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปลูกบำรุงได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการปลูกป่าชายเลนทดแทน ให้เต็มพื้นที่ในแนวตัดฟันไม้ที่ทำไม้ออกทั้งหมด แล้วยังต้องดำเนินการปลูกป่าเขตสัมปทานตามวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนดอีกภายใน วงเงิน 3 เท่าค่าภาคหลวง พร้อมทั้งขุดแพรกเพื่อช่วยเหลือการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่ปลูก อีกด้วย ดังนั้นพื้นที่ป่าชายเลน ที่ให้สัมปทานทำไม้แล้ว รัฐจึงไม่ต้องทำการปลูกป่าชายเลนเอง เพียงแต่ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ ควบคุมให้ผู้รับสัมปทาน ทำการปลูกป่าชายเลนให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัมปทานโดยเคร่งครัด 

3. การปลูกป่าชายเลนโดยภาคเอกชน 

                การปลูกสร้างสวนป่าชายเลนหรือสวนป่าไม้โกงกางโดยเอกชน อยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลก้นอ่าวไทยในท้องที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ จนถึงชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกสร้างสวนป่าไม้โกงกางเป็นอาชีพในครัวเรือน ในที่ดินกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นมรดกตกทอดต่อ ๆ กันมา จากการสอบถามประวัติความเป็นมาของราษฎรบางรายในท้องที่บ้านตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีและที่บ้านยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งได้เริ่มปลูกป่าไม้โกงกางใบเล็กเพื่อเผาถ่านและทำไม้ฟืนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 และมีราษฎร รายอื่น ๆ ทำตามติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยจำนวนเนื้อที่ที่แท้จริงของสวนป่าไม้โกงกางที่ราษฎรได้ปลูกขึ้นที่บ้าน ยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ โดยดำเนินการอยู่หลายเจ้าของ และใช้ประโยชน์ไม้จากสวนป่าที่ปลูก ในการเผาถ่านเป็นส่วนใหญ่ เมื่อสวนป่ามีอายุ 8 - 12 ปี แต่ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สวนป่าดังกล่าวทำเป็นนากุ้งไปเป็นจำนวน มากแล้ว 

4. การปลูกป่าชายเลนตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 

                รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับภาคเอกชนจัดทำโครงการปลูกป่า ถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชปีที่ 50 นั้น กรมป่าไม้ในฐานะที่ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปลูกป่าได้รับมอบหมายให้จัดทำพื้นที่ เป้าหมายขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่า โดยในส่วนที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนนั้น กรมป่าไม้ได้จัดทำพื้นที่เป้าหมายไว้ 31,724 ไร่ จำนวน 57 แห่ง อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ จำนวน 12 จังหวัด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น