วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศป่าชายเลน







           ระบบนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นในป่าชายเลนนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม พืชพรรณธรรมชาติชนิดต่าง ๆ เมื่อได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงจะทำให้เกิดอินทรียวัตถุและการเจริญเติบโต กลายเป็นผู้ผลิต (producers) ของระบบส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ นอกเหนือจากมนุษย์นำไปใช้ประโยชน์จะร่วงหล่นทับถมในน้ำและในดิน ในที่สุดก็จะกลายเป็นแร่ธาตุของพวกจุลชีวัน เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา แพลงก์ตอน ตลอดจนสัตว์เล็ก ๆ หน้าดินที่เรียกกลุ่มนี้ว่า ผู้บริโภคของระบบ (detritus consumers) พวกจุลชีวันเหล่านี้จะเจริญเติบโตกลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำเล็ก ๆ อื่น ๆ และสัตว์เล็ก ๆ เหล่านี้ จะเจริญเติบโตเป็นอาหารของพวกกุ้ง ปู และปลาขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับของอาหาร (tropic levels) นอกจากนี้ ใบไม้ที่ตกหล่นโคนต้นอาจเป็นอาหารโดยตรงของสัตว์น้ำ (litter feeding) ก็ได้ ซึ่งทั้งหมดจะเกิดเป็นห่วงโซ่อาหารขึ้น ในระบบนิเวศป่าชายเลน และโดยธรรมชาติแล้วจะมีความสมดุลในตัวของมันเอง แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก็จะเป็นผลทำให้ระบบความสัมพันธ์นี้ถูกทำลายลง จนเกิดเป็นผลเสียขึ้นได้ เช่น ถ้าหากพื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลาย จำนวนสัตว์น้ำก็จะลดลงตามไปด้วยตลอดจนอาจเกิดการเน่าเสียของน้ำ







ป่าชายเลนในภูมิภาค / โลก


            การกระจายพื้นที่ป่าชายเลนของโลกป่าชายเลนของโลกมีทั้งหมดประมาณ 113.43 ล้านไร่ ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ในเขตร้อน 3 เขตใหญ่ เขตร้อนแถบเอเชีย มีเนื้อที่ประมาณ 52.56 ล้านไร่ หรือ 46.4 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าชาย เลนทั้งหมด เขตร้อนอเมริกา มีเนื้อที่ประมาณ 39.60 ล้านไร่ หรือ 34.9 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าชาย เลนทั้งหมด เขตร้อนอัฟริกา มีพื้นที่ป่าชายเลนน้อยที่สุด ประมาณ 21.63 ล้านไร่ หรือ 18.7 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด ประเทศที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดในโลก คือ ประเทศอินโดนีเชียมีพื้นที่ประมาณ 26.57 ล้านไร่ รองลงมา คือ ประเทศบราซิลมีพื้นที่ประมาณ 15.63 ล้านไร่ และออสเตรเลียมีพื้นที่ ประมาณ 7.19 ล้านไร่