วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556



การปลูกป่าชายเลน



1. การปลูกป่าชายเลนโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน 

                กรมป่าไม้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ในท้องที่จังหวัดจันทบุรีในบริเวณพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม โดยดำเนินการปลูกไม้โกงกางเพื่อเป็นการทดลองปลูกในเนื้อที่เพียงเล็กน้อย และไม่ได้มีโครงการที่จะปลูกเพิ่มขึ้นในท้องที่จังหวัดอื่นด้วย แต่ก็ดำเนินการเพียงพื้นที่เล็กน้อย และเริ่มปลูกเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังแต่พื้นที่ก็ยังไม่มาก ไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นไม้โกงกาง มีไม้โปรง ไม้ถั่วบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย การปลูกป่าชายเลน ที่ผ่านมาเพียงปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณป่าที่เสื่อมโทรมยังไม่มีแผน การจัดการที่จะนำไม้ออกมาใช้ประโยชน์ เนื้อที่สวนป่าชายเลนที่ได้ดำเนินการปลูกโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ถึงปี พ.ศ. 2534 มีการดำเนินการในท้องที่จังหวัดจันทบุรี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล ปัตตานี กระบี่ ชุมพร ได้เนื้อที่รวมกันประมาณ 56,660 ไร่ 

2. การปลูกป่าชายเลนตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน 


                การทำไม้ตามสัมปทานได้เริ่มออกสัมปทานทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 โดยให้สัมปทานระยะยาว 15 ปี ขณะนี้ป่าโครงการที่ให้สัมปทานอยู่ในรอบที่สอง (สัมปทานฉบับใหม่) จำนวน 248 ป่า เนื้อที่ประมาณ 899,755.07 ไร่ ซึ่งเมื่อทำไม้ออกตามสัมปทานแล้วแต่ละปีผู้รับสัมปทานจะต้องทำการปลูกบำรุง ป่า ทดแทน ตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้รอบแรกกำหนดให้ผู้รับสัมปทานปลูกป่าทดแทนเพียง 1 เท่าค่าภาคหลวง เท่านั้น จึงทำให้ปลูกป่าทดแทนได้ไม่เต็มพื้นที่ที่มีการทำไม้ออก ฉะนั้นตามสัมปทานทำไม้ฉบับใหม่ที่ทำไม้ออก ตามสัมปทานในรอบที่สอง ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขสัมปทานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปลูกบำรุงได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการปลูกป่าชายเลนทดแทน ให้เต็มพื้นที่ในแนวตัดฟันไม้ที่ทำไม้ออกทั้งหมด แล้วยังต้องดำเนินการปลูกป่าเขตสัมปทานตามวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนดอีกภายใน วงเงิน 3 เท่าค่าภาคหลวง พร้อมทั้งขุดแพรกเพื่อช่วยเหลือการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่ปลูก อีกด้วย ดังนั้นพื้นที่ป่าชายเลน ที่ให้สัมปทานทำไม้แล้ว รัฐจึงไม่ต้องทำการปลูกป่าชายเลนเอง เพียงแต่ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ ควบคุมให้ผู้รับสัมปทาน ทำการปลูกป่าชายเลนให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัมปทานโดยเคร่งครัด 

3. การปลูกป่าชายเลนโดยภาคเอกชน 

                การปลูกสร้างสวนป่าชายเลนหรือสวนป่าไม้โกงกางโดยเอกชน อยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลก้นอ่าวไทยในท้องที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ จนถึงชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกสร้างสวนป่าไม้โกงกางเป็นอาชีพในครัวเรือน ในที่ดินกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นมรดกตกทอดต่อ ๆ กันมา จากการสอบถามประวัติความเป็นมาของราษฎรบางรายในท้องที่บ้านตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีและที่บ้านยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งได้เริ่มปลูกป่าไม้โกงกางใบเล็กเพื่อเผาถ่านและทำไม้ฟืนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 และมีราษฎร รายอื่น ๆ ทำตามติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยจำนวนเนื้อที่ที่แท้จริงของสวนป่าไม้โกงกางที่ราษฎรได้ปลูกขึ้นที่บ้าน ยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ โดยดำเนินการอยู่หลายเจ้าของ และใช้ประโยชน์ไม้จากสวนป่าที่ปลูก ในการเผาถ่านเป็นส่วนใหญ่ เมื่อสวนป่ามีอายุ 8 - 12 ปี แต่ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สวนป่าดังกล่าวทำเป็นนากุ้งไปเป็นจำนวน มากแล้ว 

4. การปลูกป่าชายเลนตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 

                รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับภาคเอกชนจัดทำโครงการปลูกป่า ถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชปีที่ 50 นั้น กรมป่าไม้ในฐานะที่ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปลูกป่าได้รับมอบหมายให้จัดทำพื้นที่ เป้าหมายขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่า โดยในส่วนที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนนั้น กรมป่าไม้ได้จัดทำพื้นที่เป้าหมายไว้ 31,724 ไร่ จำนวน 57 แห่ง อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ จำนวน 12 จังหวัด 




ประเภทของป่าชายเลนที่พบแพร่กระจายในประเทศไทย








            ป่าชายเลนสามารถแบ่งตามลักษณะกายภาพของพื้นที่และการท่วมถึงของน้ำทะเลมี 4 ชนิด คือ

            Basin forest เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ (main land) ตามลำแม่น้ำเล็กๆ จะได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลน้อยมาก กล่าวคือ น้ำทะเลจะท่วมถึงเฉพาะเวลาที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด (extreme high tide) เท่านั้น และมีอิทธิพลจากน้ำจืดมาก ลักษณะพันธุ์ไม้จะเป็นต้นเตี้ยและพวกเถาวัลย์

            Riverine foresป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งแม่น้ำใหญ่ๆที่ติดต่อกับอ่าว ทะเล และทะเลสาบ ป่าประเภทนี้ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลอยู่อย่างสม่ำเสมอ คือจะมีกระแสน้ำท่วมอยู่เป็นประจำวัน โดยพันธุ์ไม้จะเจริญเติบโตค่อนข้างสมบูรณ์ดี

            Fringe forest เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นตามชายฝั่งทะเลติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ หรือบริเวณชายฝั่งที่เป็นเกาะใหญ่ๆ ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลอยู่สม่ำเสมอ คือน้ำทะเลจะท่วมถึงอยู่เป็นประจำวัน พันธุ์ไม้ของป่าจะเจริญเติบโตได้ดี และเป็นป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์

            Overwash forest เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่บนเกาะเล็กๆ จะถูกน้ำทะเลท่วมทั้งหมดเมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด การเจริญเติบโตของป่าชนิดนี้ต่ำ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมและน้ำทะเลมาก อีกประการหนึ่งคือ พวกปุ๋ยและธาตุอาหารในป่าชนิดนี้จะถูกชะไปโดยกระแสน้ำออกจากป่าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การเจริญเติบโตของป่าชนิดนี้ไม่ดีและป่าจะมีลักษณะ เตี้ย
            ป่าชายเลนนอกจากจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ที่อยู่อาศัย หลบภัย และหาอาหารของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นลิง นก กุ้ง หอย ปู และปลาชนิดต่าง ๆ มากมายแล้ว ยังช่วยทำหน้าที่ลดความแรงและความเร็วของน้ำ ทำให้ตะกอนที่ไหลมาจากแผ่นดินทับถมอยู่บริเวณผืนป่าชายเลนนั้น ช่วยกรองน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลให้มีความใสสะอาดมากขึ้นและตะกอนเหล่านี้ก็จะทับถมกันเป็น แผ่นดินงอกเงยขึ้นมาเรื่อย ๆ อีกด้วย

             ในอดีตมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์กระจายอยู่ทั่วไป แต่จากกระแสการพัฒนาประเทศที่รวดเร็ว ป่าชายเลนหลายแห่งได้ถูกทำลายแล้วทดแทนด้วยการถมดินปรับพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรมชุมชน นากุ้งและอื่น ๆ ปัจจุบันป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ของไทยจึงเหลืออยู่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับความคุ้มครองอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หนึ่งในจำนวนนั้น คือ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา


การกระจายของพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทย 

             ป่าชายเลนของประเทศไทยขึ้นอยู่กระจัดกระจายตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ โดยจะพบทั้งทางด้านฝั่งอ่าวไทย และฝั่งด้านทะเลอันดามัน 

             ภาคกลาง: จังหวัดที่พบได้แก่ บริเวณที่ติดกับชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ 

             ภาคตะวันออก: แพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา 
             ภาคใต้: ส่วนมากจะเกิดเป็นแนวยาวติดต่อกันทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือด้านทะเลอันดามัน ในเขตจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 

             ส่วนชายฝั่งด้านตะวันออกหรือด้านอ่าวไทย จะพบตามปากน้ำและลำน้ำใหญ่ๆ ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี

             จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดพังงา สตูล กระบี่ และ ตรัง


alt
พื้นที่ป่าชายเลนตามจังหวัดชายฝั่งในประเทศไทย
ที่มา : สนิท อักษรแก้ว. ประชากรและทรัพยากรชายฝั่งทะเล (รวมบทความทางวิชาการ). ทุนเมธีวิจัยอาวุโส
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2545.