วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

                                           
   ราที่พบในป่าชายเลน (Mangrove fungi)


    จากหลักฐานคาดว่ารามีวิวัฒนาการมาจากสาหร่ายที่สังเคราะห์แสงได้ โดยราแต่ละกลุ่มจะวิวัฒนาการมาจาก algae ที่แตกต่างกัน ราที่ปัจจุบันพบบนบกจัดว่ามีวิวัฒนาการสูงกว่าราชั้นต่ำที่อยู่ในน้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปราบางกลุ่มก็ค่อยๆ ปรับตัวและวิวัฒนาการลงสู่ทะเลอีก กลายเป็นราน้ำเค็มและราที่ทนเค็ม ราที่พบในป่าชายเลนเรียกว่า Manglicolous fungi นอกจากจะพบว่ามีสภาพเป็นราชั้นสูงที่สามารถสร้างดอกเห็ดได้ทั่วไปในกลุ่ม Basidiomycotina และอีกกว่าร้อยละ 80 อยู่ในรากลุ่ม Ascomycotina ที่เหลือคือราน้ำและราชั้นต่ำอีกมากมาย และรากลุ่มที่สร้างเซลสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเท่านั้น (Deuteromycotina) ราที่ทนความเค็มหรือราน้ำเค็ม จึงไม่มีความจำเพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ในระบบนิเวศป่าชายเลนมักพบราได้ทั่วไปบนวัสดุต่าง ๆ เช่น ซากกิ่งไม้ ใบไม้ รากไม้ที่ถูกน้ำเค็มท่วมถึง รวมถึงในดินตะกอนและในน้ำกร่อย ราจึงทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายที่สำคัญในส่วนของทะเลและชายฝั่ง 

    ราชั้นสูงที่พบในป่าชายเลนทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 200 ชนิด และอีกจำนวนมากกำลังรอการค้นพบ โดยรามักอยู่ในกลุ่มของ Sub-division Basidiomycotina ที่สร้างดอกเห็ดที่พบได้ทั่วไปในป่าชายเลน นอกจากนี้ในน้ำยังมีราน้ำเค็มที่แท้จริง ที่ส่วนใหญ่มีสปอร์รูปร่างแปลกตาสวยงามมีระยางค์หรือเมือกหุ้มรอบตัว เพื่อช่วยในการยึดเกาะกับพื้นผิวของวัสดุธรรมชาติในแหล่งน้ำเค็ม และช่วยให้การแพร่พันธุ์เป็นประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น จึงไม่เป็นการแปลกบางครั้งพบราน้ำเค็มหรือราทนเค็มในน้ำที่ไหลผ่านเข้าออกจากป่าชายเลน หรือพบเจริญอยู่กับต้นไม้ในป่าชายเลน ราบางกลุ่มมีความเฉพาะกับพืชอาศัย เช่น Halocyphina villosa พบได้บ่อยครั้งบนเปลือกต้นแสม แต่แทบจะไม่พบกับต้นถั่วขาวและโกงกางใบเล็ก ส่วน Coronopapilla mangrovei เป็นชนิดที่พบอาศัยอยู่กับต้นตะบูน ราบางชนิดอาจทำให้เกิดความเสียหายโดยเป็นสาเหตุของโรคไส้เน่า ที่เห็นกันทั่วไปคือไม้ตะบูนขาวที่เกิดโพรงในลำต้น มักมีสาเหตุมาจากเห็ดหิ้งชนิด Phellinus sp. ซึ่งแทบจะไม่พบว่าขึ้นเป็นปรสิตกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลนชนิดอื่นเลย 

    อย่างไรก็ตามในประเทศไทย การศึกษาราที่ทนเค็ม ราน้ำเค็ม และราในป่าชายเลนยังมีอยู่น้อยมาก ในภูมิภาคนี้ประเทศอินเดียมีการศึกษาราในกลุ่มนี้มากที่สุด รวมถึงการศึกษาด้านการมีความสัมพันธ์กับไม้ในป่าชายเลนแบบ symbiosis ด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซีย จนกระทั่งในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จึงมีการศึกษาราน้ำเค็มกันมากขึ้น และมีรายงานพบราน้ำเค็มในประเทศไทยกว่า 160 ชนิด โดยมีสายพันธุ์ราน้ำเค็มบริสุทธิ์ที่เก็บรักษาไว้ที่ห้องปฏิบัติการเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ (BIOTEC) แล้ว ประมาณ 1,400 สายพันธุ์ ส่วนราทนเค็มและราในป่าชายเลนชนิดอื่น ๆ ยังไม่มีรายงานการศึกษามากนัก โดยเฉพาะราในกลุ่มของเห็ดหิ้งที่พบได้ทั่วไปในป่าชายเลน กลับแทบจะไม่เคยมีการเก็บตัวอย่างเลย การศึกษาราในป่าชายเลนของประเทศไทยพบเพียงการศึกษาของอนิวรรต และ ธีรวัฒน์ (2533) ที่ทำการศึกษาราที่พบในส่วนของเนื้อไม้ป่าชายเลนบางชนิด ที่จังหวัดระนอง พบราน้ำเค็มและราทนเค็ม 59 ชนิด ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ Sub-division Ascomycotina ถึง 50 ชนิด และให้ข้อสังเกตว่าควรทำการศึกษาให้มีความหลากหลายของสถานที่เก็บตัวอย่างให้มากขึ้น 

การจำแนกกลุ่มของรา  สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้ 

1. Division Myxomycota เรียกกันทั่วไปว่าราเมือก (slime mold) พบอาศัยตามที่เย็น มีร่มเงาและมีความชื้นสูง จึงมักพบตามขอนไม้ที่ผุพัง กองใบไม้เน่าหรือซากอินทรียวัตถุที่มีความชื้นแฉะ 

2. Division Eumycota จัดว่าเป็น true fungi อาหารได้รับจากการดูดซึมผ่านผนังเซล (absorption) ถ้ามีขนาดใหญ่มองเห็นชัดด้วยตาเปล่ามักจะเรียกว่า “เห็ด” ประโยชน์ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมธาตุอาหารและป้องกันโรคที่เกิดกับระบบราก มีความสัมพันธ์กับพืชแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน มักพบในพืชป่าบกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในป่าชายเลน และพันธุ์ไม้อิงอาศัย การจำแนกรากลุ่มนี้จะพิจารณาจากวิธีการและการสร้างเซลสืบพันธุ์ แบ่งได้ 5 ชั้นย่อย คือ 

2.1 Sub-division Mastigomycotina รากลุ่มนี้มีประมาณ 190 สายพันธุ์ (genera) สร้างเซลสืบพันธุ์แบบซูโอสปอร์ (Zoospore) ส่วนใหญ่เป็นราที่อาศัยอยู่ในน้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม มีบ้างที่อยู่ในดิน ปกติราในกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก ยกเว้นแต่บางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคพืช เช่น ทำให้เกิดโรคเน่าคอดินและใบไหม้ และบางชนิดทำให้เกิดโรคกับสัตว์ที่หายใจผ่านผิวหนัง เช่น กบ 

2.2 Sub-division Zygomycotina รากลุ่มนี้สร้างเซลสืบพันธุ์แบบไซโกสปอร์ (Zygospore) มีบทบาทมากในวงการอุตสาหกรรม เช่น Rhizopus oryzae ใช้ผลิตอัลกอฮอล์ R. nodosus ใช้ผลิตกรดแลกติก Mucor sp.ใช้ผลิตกรดซิตริกและกรดออกซาลิก และ Entomophthora ประมาณ 80 ชนิดพันธุ์ เป็นปรสิตของแมลง และใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชแบบชีววิธี (bio-control) โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในดิน ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย พบในดินที่มีอินทรียวัตถุสูงและในมูลสัตว์ ปกติดำรงชีวิตเป็นอิสระ และเจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก พบได้ทั่วไปในชีวิต ประจำวัน เช่น ราสีเขียวที่ขึ้นบนขนมปัง 





2.3 Sub-division Ascomycotina รากลุ่มนี้สร้างเซลสืบพันธุ์แบบแอสโคสปอร์ (Ascospore) มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดประมาณ 30,000 ชนิดพันธุ์ พบได้ทั่วไปในดิน ในน้ำจืดรวมทั้งในน้ำเค็ม ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตเป็นอิสระ มีบทบาทเป็นผู้ย่อยสลาย ส่วนน้อยที่พบดำรงชีวิตเป็นปรสิต บางทีเรียกราในกลุ่มนี้ว่า ราถุง (sac fungi) พบเป็นผู้ย่อยสลายในที่ชื้นแฉะในป่าดิบและป่าชายเลน ตามไม้ผุที่ชุ่มชื้น บางชนิดสร้างดอกเห็ดอยู่ใต้ดิน ที่เรียกกันว่า Truffles มีรสชาติดีและมีราคาแพงมาก 

2.4 Sub-division Basidiomycotina รากลุ่มนี้สร้างเซลสืบพันธุ์แบบเบสิดิโอสปอร์ (Basidiospore) มีวิวัฒนาการสูงที่สุดพบมากกว่า 900 สายพันธุ์ 12,000 ชนิดพันธุ์ ลักษณะที่สำคัญคือมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการสร้างสปอร์ ส่วนใหญ่พบดำรงชีวิตเป็นอิสระและเป็นผู้ย่อยสลายที่สำคัญของระบบนิเวศ รากลุ่มนี้พบว่ามีความสามารถในการทำลายไม้ (wood destroying fungi) ทำให้เกิดการผุพัง เช่น ไม้ที่ล้มตามธรรมชาติในป่า และไม้ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างทางเดินศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลน เป็นต้น 











ภาพ Pycnoporus sanguineus ขึ้นบนพื้นไม้ทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน

2.5 Sub-division Deuteromycotina รากลุ่มนี้สร้างเซลสืบพันธุ์แบบสปอร์แบบไม่อาศัยเพศเท่านั้น โดยการสร้างหน่วยสืบพันธุ์ที่เรียกว่าConidia ได้หลายแบบ การจำแนกกลุ่มของราจึงไม่สำคัญมาก โดยจำแนกตามชนิด อาศัยโครงสร้าง รูปร่างและสีของหน่วยสืบพันธุ์ ราที่สำคัญได้แก่ Aspergillus และ Penicillium ที่มีความสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมอาหารและยาปฏิชีวนะ บางชนิดเป็นปรสิตกับพืชทำให้เกิดความเสียหายต่อการเกษตรได้อย่างรุนแรง เช่น ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า ในพืชหลายชนิด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น